Hearing Conservation Program (HCP) 


Hearing Conservation Program (HCP) หรือโครงการอนุรักษ์การได้ยิน มีวัตถุประสงค์หลักคือการป้องกันผู้ปฏิบัติงานไม่ให้สูญเสียการได้ยินในสถานที่ทำงาน ซึ่งหลักปฏิบัติสากลแล้วการจัดทำ HCP โดยสังเขปมีดังนี้

  • กำหนดผู้รับผิดชอบโครงการที่มีอำนาจหน้าที่ เพื่อเป็นผู้นำในการประสานกับทุกฝ่าย
  • ให้ความรู้เกี่ยวกับอันตรายของการสัมผัสเสียงดัง ทั้งฝ่ายนายจ้างและลูกจ้าง
  • จัดให้มีการตรวจวัดสมรรถภาพการได้ยินประจำปีแก่พนักงานทุกคนที่ต้องสัมผัสเสียงดัง
  • ระบุได้ว่าเครื่องจักรหรือกระบวนการผลิตใด เป็นแหล่งกำเนิดเสียงที่ดังเกินกว่าข้อกำหนด
  • มีแผนและวิธีการจัดการหรือควบคุมแหล่งกำเนิดเสียงนั้น
  • นำเสนอโครงการจัดการหรือควบคุมแหล่งกำเนิดเสียงนั้นต่อฝ่ายบริหาร
  • จัดให้มีการทบทวนถึงสาเหตุของการสูญเสียการได้ยินของพนักงานเป็นประจำทุกปี

สำหรับประเทศไทยนั้น การจัดทำโครงการอนุรักษ์การได้ยินเป็นกฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการจัดทำโครงการอนุรักษ์การได้ยินในสถานประกอบการ พ.ศ. 2553 ซึ่งมีรายละเอียดที่สามารถศึกษาได้จากเอกสารฉบับนี้ – http://www.noisecontrol.company/download/HCP.pdf

องค์ประกอบสำคัญในการจัดทำโครงการอนุรักษ์การได้ยิน

1.  การเก็บข้อมูลเสียง (Noise Survey)
          ขั้นตอนแรกของการพิจารณาว่าต้องมีการทำโครงการอนุรักษ์การได้ยินหรือไม่ หรือต้องทำที่พื้นที่ใดบ้าง คือการเก็บข้อมูลเสียงทั้งหมด หากผลจากการเก็บข้อมูลพบว่ามีพื้นที่ที่มีระดับเสียงเกินกว่าที่กำหนด (กฎหมายของประเทศไทยกำหนดไว้ที่ 85 dBA) ก็ต้องจัดให้มีการจัดทำโครงการ โดยจัดตั้งคณะทำงานหรือผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องเข้ามาร่วมดำเนินงาน ส่วนสำคัญที่จะทำให้โครงการฯ ประสบความสำเร็จคือพนักงานที่ทำงานในบริเวณเสียงดังเกินกำหนด ได้มีส่วนร่วมในการระบุถึงแหล่งกำเนิดเสียงและได้มีการเสนอแนะในการควบคุมหรือจัดการกับแหล่งกำเนิดเสียงนั้น

          1.1) การสำรวจหน้างาน (Onsite Walk-through)
          จุดประสงค์สำคัญของการสำรวจหน้างานคือ การรับทราบและเข้าใจถึงข้อมูลที่เกิดขึ้นตามสภาพหน้างานจริง หมายรวมถึงสภาพเครื่องจักร อาคาร กระบวนการทำงาน จำนวนพนักงาน และสภาพแวดล้อมอื่นๆในพื้นที่นั้น การสำรวจหน้างานควรมีการขอความคิดเห็นหรือข้อมูลจริงจากทั้งฝ่ายบริหารหรือฝ่ายนายจ้างและตัวแทนของฝ่ายพนักงานด้วย หลังจากนั้นจึงนำข้อมูลเหล่านี้มาวางแผนในการวัดเสียงเพื่อจัดทำแผนที่เสียง (noise contour/ octave contour) ต่อไป ซึ่งในการสำรวจระดับเสียงหน้างานนี้ ผู้สำรวจควรเก็บระดับเสียงดังสูงสุดในแต่ละพื้นที่มาด้วย นอกเหนือจากระดับเสียงเฉลี่ย หากพบว่าไม่มีพื้นที่ใดมีระดับเสียงเกินกว่า 85 dBA ก็ไม่มีความจำเป็นที่จะต้องจัดทำโครงการฯ แต่สำหรับบางกรณีที่ฝ่ายบริหารหรือนายจ้างเห็นว่าควรจัดทำโครงการฯ ถึงแม้ว่าระดับเสียงไม่เกิน 85 dBA ตามที่กฏหมายกำหนด แต่อาจก่อให้เกิดอันตรายต่อการได้ยินของพนักงานในระยะยาว ผู้สำรวจหรือผู้มีหน้าที่เกี่ยวข้องก็อาจกำหนดค่าความดังเสียงขึ้นมาเองได้ตามความเหมาะสมกับสภาพการทำงานนั้น เช่น จะทำโครงการฯ สำหรับพื้นที่ที่มีพนักงานสัมผัสเสียงอยู่ทั้งหมด 50 คน และพื้นที่นั้นมีระดับเสียงเฉลี่ยเกินกว่า 80 dBA เป็นต้น

          1.2) การสัมผัสเสียงของแต่ละบุคคล (Individual Dosimetry)
การที่พนักงานได้ยินเสียงในบริเวณที่ทำงานเป็นเวลาต่อเนื่องกันเรียกว่า ระยะเวลาที่สัมผัสเสียง ซึ่งการสัมผัสเสียงนี้เกิดขึ้นได้ทั้งแบบเต็มเวลาทำงานหรือเพียงบางช่วงเวลา การบันทึกค่าการสัมผัสเสียงแบ่งย่อยได้อีก 3 แบบคือ
          1.2.1) single dose – เป็นการวัดการสัมผัสเสียงแบบค่าเดียว ไม่เหมาะสำหรับการนำมาใช้ในการแก้ปัญหา
          1.2.2) time history – เป็นการบันทึกค่าการสัมผัสเสียงของพนักงานเต็มเวลาการทำงาน ทำให้ทราบถึงสถานที่ เวลาและระดับเสียงที่พนักงานสัมผัสจริง ส่งผลให้มีข้อมูลที่ครบถ้วนในการแก้ปัญหา
          1.2.3) octave measurement – เป็นการบันทึกค่าการสัมผัสเสียงตลอดระยะเวลาในการทำงานของตัวแทนพนักงานเหมือนวิธีการแบบ time history แต่เครื่องมือที่ใช้บันทึกเสียงจะมีความสามารถในการเก็บความถี่หรือแยกความถี่เสียงได้ด้วย เพื่อให้ผู้วิเคราะห์หรือวิศวกรที่มีหน้าที่ออกแบบแนวทางการแก้ปัญหาเสียงดัง ได้ใช้เป็นข้อมูลในการพยากรณ์หรือทำตัวแบบจำลองในการแก้ปัญหาเสียงดังนั้นได้ตรงจุดและมีประสิทธิภาพ ด้วยค่าใช้จ่ายที่เหมาะสมต่อไป

2.  การทดสอบการได้ยินของพนักงาน
          การทดสอบการได้ยินของพนักงานเป็นองค์ประกอบพื้นฐานที่สำคัญสำหรับการจัดทำโครงการอนุรักษ์การได้ยิน นอกจากจะใช้เป็นค่าชี้วัดความสำเร็จของโครงการฯแล้ว ยังเป็นข้อมูลที่ทำให้ทราบถึงสุขภาพและความปลอดภัยทางหูของพนักงานที่สัมผัสเสียงอีกด้วย โดยเฉพาะพนักงานใหม่ที่ไม่เคยทำงานในพื้นที่ที่มีระดับเสียงเข้มข้นมาก่อน ควรได้รับการทดสอบการได้ยินเพื่อบันทึกไว้ในประวัติสุขภาพการทำงานด้วย การทดสอบการได้ยินควรได้รับการทดสอบโดยเจ้าหน้าที่ชำนาญการที่ผ่านการฝีกอบรมการใช้เครื่องมือพร้อม certification หรือแพทย์ที่มีประสบการณ์ในการใช้เครื่องมือและแปรผล ตามกฎหมายไทยกำหนดให้การทดสอบสมรรถภาพการได้ยินและแปรผล โดยใช้การทดสอบสมรรถภาพการได้ยินครั้งแรกของลูกจ้างที่ความถี่ 500 1000 2000 3000 4000 และ 6000 Hz ของหูทั้งสองข้างเป็นข้อมูลพื้นฐาน และนำผลการทดสอบครั้งต่อไปเทียบกับครั้งแรกทุกครั้ง หากพบว่าลูกจ้างมีการสูญเสียการได้ยินที่หูข้างใดข้างหนึ่ง ในความถี่หนึ่งความถี่ใดเกินกว่า 15 dBA ขึ้นไป ให้นายจ้างดำเนินการแก้ไขปรับปรุง ดังรายละเอียดที่จะได้กล่าวถึงในบทความต่อไป

3.  ตัวแทนฝ่ายพนักงานและฝ่ายบริหาร
          สำหรับการจัดทำโครงการฯนั้น สมรรถภาพการได้ยินของพนักงานเป็นเรื่องสำคัญที่สุด การจัดให้มีตัวแทนของพนักงานหรือผู้รับผิดชอบโครงการ ที่พนักงานหรือลูกจ้างสามารถเข้าถึงหรือให้ข้อมูลได้ตามสภาพความเป็นจริงที่เกิดขึ้นจึงเป็นสิ่งจำเป็น ตัวแทนหรือคณะทำงานโครงการอนุรักษ์การได้ยิน ควรเป็นผู้มีความรู้เรื่องรายละเอียดและขั้นตอนในการจัดทำโครงการฯ รวมไปถึงได้รับการยอมรับและให้ความร่วมมือทั้งจากฝ่ายพนักงานและฝ่ายบริหาร องค์ประกอบในข้อนี้นับเป็นเรื่องสำคัญที่สุดที่จะผลักดันให้โครงการฯ ประสบความสำเร็จหรือช่วยป้องกันและลดการสูญเสียการได้ยินของพนักงานลง

4.  การฝึกอบรมให้ความรู้แก่ทุกฝ่าย
          การให้ความรู้เรื่องวิธีการป้องกันการเสื่อมสมรรถภาพการได้ยิน การเลือกใช้อุปกรณ์ในการป้องกันเสียงดัง จำนวนชั่วโมงที่สัมผัสเสียงดังได้โดยไม่ก่อให้เกิดการสูญเสียการได้ยิน หรือข้อมูลเบื้องต้นเกี่ยวกับมลภาวะทางเสียงและวิธีการปฏิบัติตน จะช่วยให้พนักงานทุกคนได้ตระหนักและเห็นความสำคัญในการมีส่วนร่วมผลักดันโครงการฯ ให้ประสบผลสำเร็จ

5.  การบันทึกผลการดำเนินโครงการ
          การดำเนินโครงการอนุรักษ์การได้ยินจะเห็นผลเป็นอย่างมากต่อนายจ้างและลูกจ้าง เมื่อมีการทำบันทึกความคืบหน้าของโครงการอย่างสม่ำเสมอ เช่น การบันทึกหรือจัดทำรายงานผลการเปลี่ยนแปลงของการทดสอบสมรรถภาพการได้ยินของลูกจ้างเทียบกับเมื่อครั้งแรกที่มีการทดสอบและบันทึกผลไว้ รวมไปถึงผลการจัดทำ noise survey หรือการเก็บข้อมูลเสียงในพื้นที่ที่อยู่ในโครงการฯ และแนวทางที่จะดำเนินการปรับปรุงพร้อมความคืบหน้าของแต่ละแนวทาง

6.  การลดระดับเสียงดังในพื้นที่ทำงาน
          สามารถกระทำได้สามรูปแบบคือ
          6.1) Personal Protection หรือการใส่อุปกรณ์ป้องกันเสียงเช่น earplugs, earmuffs
          6.2) Engineering Controls หรือการแก้ปัญหาด้วยกระบวนการทางวิศวกรรม เริ่มตั้งแต่การเก็บข้อมูล การทำแผนที่เสียง การแยกความถี่เสียงรวมไปถึงการทำแบบจำลองและเลือกวิธีการแก้ปัญหาแบบต่างๆ เพื่อให้เหมาะสมกับการปฏิบัติงานของผู้ที่ได้รับผลกระทบด้านเสียง และมีค่าใช้จ่ายที่ทำให้โครงการสามารถดำเนินการได้จริงจนเป็นผลสำเร็จ
          6.3) Administrative Controls หรือ กรณีที่ไม่สามารถดำเนินการลดเสียงด้วยวิธีการทางวิศวกรรมได้ การแก้ปัญหาด้วยการบริหารเวลาหรือจำนวนชั่วโมงที่สัมผัสเสียงของพนักงานก็เป็นเรื่องที่ต้องให้ความสำคัญแทน แม้ว่าจะเป็นวิธีการป้องกันเสียงดังที่ได้ผลน้อยที่สุดแต่สามารถทำได้ทันที ข้อเสียคืออาจส่งผลกระทบต่อแผนการผลิตหรือการบริหารงานบุคคคล

7.  การประเมินผลของการจัดทำโครงการฯ
เมื่อมีการริเริ่มและดำเนินโครงการอนุรักษ์การได้ยิน จะต้องมีการประเมินผลโครงการฯ โดยนำผลหรือข้อมูลที่ได้ภายหลังการดำเนิน (หลังการปรับปรุง) งานเปรียบเทียบกับข้อมูลก่อนจัดทำโครงการฯ (ก่อนการปรับปรุง) โดยการประเมินผลของโครงการฯ ควรคำนึงถึง คุณภาพและผลสัมฤทธิ์ของโครงการด้วย ซึ่งผลสัมฤทธิ์ของโครงการสามารถวัดได้ด้วยตัวเลขของพนักงานที่ได้รับการทดสอบสมรรถภาพการได้ยิน หากตัวเลขนี้ไม่เพิ่มขึ้นและผู้ที่สูญเสียการได้ยินในบางส่วนไปแล้วไม่ได้มีอาการแย่ลง ก็ถือว่าโครงการฯ สัมฤทธิ์ผลตามเป้าประสงค์ที่ตั้งไว้ ส่วนโครงการฯ ที่มีคุณภาพนั้น คือการติดตามผลและให้ความรู้แก่พนักงานหรือผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในโครงการอย่างต่อเนื่องและนำไปใช้ได้จริงนั่นเอง