Noise Vibration Effects
ผลกระทบของเสียงรบกวนสำหรับแต่ละคนนั้น มีความรุนแรงไม่เท่ากัน ขึ้นอยู่กับระดับความไวต่อเสียงและความสั่นสะเทือนที่แต่ละคนสัมผัสได้ รวมไปถึงลักษณะของเสียงเช่นเสียงต่ำ เสียงสูง เสียงกระแทก เสียงดังแบบไม่สม่ำเสมอ และเสียงเคาะแบบกังวานที่ไม่ได้ดังแบบต่อเนื่อง เช่น เสียงเคาะแต่งโลหะหรือถังเก็บน้ำแบบหอคอย เป็นต้น ส่วนอุปกรณ์ใช้งานที่ต้องมีการสั่นสะเทือนเช่น เครื่องเจาะแบบมือถือ อาจส่งผลกระทบกับระบบไหลเวียนโลหิตและอาจก่อให้เกิดโรคปลายเส้นประสาทได้ โดยข้อเท็จจริงแล้วผลกระทบของเสียงและความสั่นสะเทือน มีเรื่องที่ต้องกล่าวถึงดังต่อไปนี้
1. รบกวนการนอนหลับพักผ่อน
เป็นที่ทราบกันดีว่าเสียงดังรบกวนมีผลต่อการนอนหลับของมนุษย์ ซึ่งเสียงดังรบกวนต่อการนอนไม่จำเป็นต้องเป็นเสียงจากเครื่องยนต์หรือเครื่องจักรเท่านั้น สำหรับบางคนแล้วเสียงแผ่วเบา เช่น เสียงน้ำหยดจากก็อกน้ำ เสียงนาฬิกาในห้อง หรือแม้แต่เสียงกรนของคนใกล้ตัว ก็เป็นเสียงที่ทำให้ไม่สามารถนอนหลับได้ หรือระดับเสียงที่สูงกว่า 30-40 dBA ก็สามารถปลุกคนที่นอนหลับอยู่ให้ตื่นได้ โดยทั่วไปแล้วเสียงที่รบกวนต่อการนอนได้แก่ เสียงการจราจรบนท้องถนน เสียงจากการก่อสร้าง เสียงเครื่องบิน หรือเสียงจากโรงงานอุตสาหกรรม ซึ่งเสียงรบกวนเหล่านี้ส่งผลให้ 1) มีปัญหาเรื่องคุณภาพการนอนหลับ และ 2) อาจทำให้สะดุ้งตื่นจากการนอน
2. ก่อให้เกิดความหงุดหงิดรำคาญ
เสียงที่เราได้ยินนั้นหากเป็นเสียงที่เราไม่อยากฟังก็นับเป็นเสียงที่ก่อให้เกิดความรำคาญ ยิ่งเป็นเสียงที่มีความดังมากก็จะยิ่งรำคาญมากขึ้น แต่ความรำคาญจากเสียงรบกวนในหลายกรณีที่พบ มิได้เกิดจากระดับความดังเสียงเพียงอย่างเดียวเท่านั้น แต่ความรำคาญนั้นยังเกิดจากปัจจัยอีกหลายอย่าง เช่น ย่านความถี่เสียง โทนเสียง ความต่อเนื่อง การเกิดซ้ำและช่วงเวลาของแต่ละวันที่มีเสียงรบกวน
3. เสียง infrasound และ ultrasound
โดยธรรมชาติของมนุษย์ เราจะได้ยินเสียงเฉพาะช่วงความถี่ 20-16000 Hz เท่านั้น แต่ระดับเสียงที่ต่ำกว่า 20 Hz (infrasound) หรือสูงกว่า 16000 Hz (ultrasound) สามารถสร้างการรบกวนได้แม้เราไม่มีความสามารถได้ยินเสียงนั้นก็ตาม แต่ที่เราควรทราบก็คือ Low Frequency Noise (LFN) หรือเสียงในย่านความถี่ 20-100 Hz สามารถสร้างความรบกวนได้มากกว่าเสียง infrasound โดยเฉพาะหากเสียงนั้นอยู่ในช่วง 20-50 Hz ก็จะเป็นเสียงที่สร้างความรำคาญได้มากที่สุด สำหรับแหล่งกำเนิดเสียงต่ำหรือ LFN ได้แก่ 1) ระบบปรับอากาศหรือพัดลมขนาดใหญ่ที่มีอัตราการหมุนต่ำ 2) ระบบให้พลังงานความร้อนแบบน้ำมันหรือก๊าซเบิร์นเนอร์ 3) บอยเลอร์ 4) เครื่องยนต์ดีเซล สำหรับความถี่สูงช่วง 16000-40000 Hz นั้นเรียกว่า ultrasound สามารถพบได้ทั่วไปในกระบวนการผลิตของโรงงานอุตสาหกรรม
4. เสียงกระแทกหรือเสียงดังแบบไม่สม่ำเสมอ
เสียงกระแทกจะทำให้กระดูกหอยโข่งและเซลล์ขนเสื่อม (ไม่สามารถฟื้นฟูได้) ที่โชคร้ายกว่านั้นคือปัจจุบันยังไม่มีมาตฐานกำหนดว่าอุปกรณ์หรือเครื่องจักรอะไรบ้างที่จัดเป็นแหล่งกำเนิดของเสียงกระแทก และผลกระทบที่ได้รับจากการรับเสียงกระแทกก็ไม่ได้มีความสัมพันธ์กับระดับพลังงานเสียงที่หูได้รับในขณะนั้นเพียงอย่างเดียวแต่ยังขึ้นกับความถี่และช่วงเวลาที่หูสัมผัสเสียงด้วย ยกตัวอย่างเช่น การที่หูได้รับพลังงานเสียงกระแทกที่ระดับเสียง 140 dBA แค่เพียง ¼ วินาที ก็อาจทำให้สูญเสียการได้ยินแบบชั่วคราวหรือแบบถาวรได้เลยในขณะนั้น ในขณะที่อีกคนได้รับเสียงกระแทก 90 dBA ในสภาพแวดล้อมที่มีเสียงดังต่อเนื่องเฉลี่ย 84 dBA เริ่มมีอาการสูญเสียการได้ยินที่บางความถี่เมื่อทำงานบริเวณนั้นเกินกว่า 12 เดือน เป็นต้น
5. ความเข้มข้นของเสียงและการสูญเสียการได้ยิน
โดยปกติหูชั้นกลางจะทำหน้าที่ป้องกันไม่ให้ระบบหูสูญเสียการได้ยินจากเสียงที่ดังเกินไป แต่ช่วยกรองได้ไม่เกิน 5 dB เท่านั้น ซึ่งแน่นอนว่าไม่เพียงพอในหลายกรณีสำหรับคนทำงานที่ต้องสัมผัสเสียงที่มีความเข้มข้นสูง เราสามารถแยกการสูญเสียการได้ยินออกได้ 2 ลักษณะคือ 1) การสูญเสียการได้ยินแบบชั่วคราว หรือหูอื้อชั่วขณะและสามารถกลับมาได้ยินเหมือนปกติภายในระยะเวลา 24-48 ชั่วโมง และ 2) สูญเสียการได้ยินแบบถาวร คือการสูญเสียที่ไม่สามารถกลับมาได้ยินเหมือนเดิมอีกต่อไป แม้ว่าจะเลิกสัมผัสระดับเสียงที่เข้มข้นเป็นระยะเวลานานแล้วก็ตาม
มาตรฐานการสัมผัสเสียงในช่วงระยะเวลาต่างๆ
ห้ามสัมผัสเสียงกระแทกที่มีค่าเกิน 140 dBA
ACGIH – The American Conference of Governmental Industrial Hygienists
NIOSH – National Institute for Occupational Safety and Health
OSHA – Occupational Safety and Health Administration
6. โครงการอนุรักษ์การได้ยิน
โครงการอนุรักษ์การได้ยินถูกออกแบบมาเพื่อช่วยป้องกันพนักงานจากระดับเสียงดังที่ก่อให้เกิดอันตรายในบริเวณที่ทำงาน ซึ่งการออกแบบเพื่อป้องกันนี้สามารถกระทำได้ทั้งในรูปของ
1) การควบคุมแหล่งกำเนิดเสียงด้วยวิธีการทางวิศวกรรม
2) การดำเนินการป้องกันที่ทางผ่านเสียงหรือความสั่นสะเทือน รวมถึงการวางแผนให้คนทำงานมีการสัมผัสเสียงดังในระดับต่างๆกันในการทำงานต่อวัน เพื่อมิให้พนักงานคนใดคนหนึ่งสัมผัสเสียงดังเป็นเวลานานจนเกินไป รายละเอียดของการจัดทำโครงการอนุรักษ์การได้ยินมีอีกมากและจะได้กล่าวถึงในบทความต่อไป
สำหรับประเทศไทยนั้น การจัดทำโครงการอนุรักษ์การได้ยินเป็นกฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการจัดทำโครงการอนุรักษ์การได้ยินในสถานประกอบการ พ.ศ. 2553 ซึ่งมีรายละเอียดที่สามารถศึกษาได้จากเอกสารฉบับนี้ – http://www.noisecontrol.company/download/HCP.pdf